www.12kick.com
Menu

ต่อให้กลัวขึ้นสมอง แต่ก็ต้องฟังทุกคืน ทำไมเราชอบฟังเรื่องผี เพื่อกล่อมให้ตัวเองหลับ

 เชื่อว่าหลายคน ต้องเคยได้ยินประโยคกล่าวสวัสดีเช่นนี้จากรายการสยองขวัญชื่อดังในประเทศไทย ซึ่งได้รับความนิยมและความไว้วางใจจากผู้ชมให้เป็นเพื่อนคล้ายเหงายามค่ำคืนมาอย่างยาวนาน และในขณะเดียวกัน หลายคนก็ใช้งานรายการขนหัวลุกเช่นนี้ เป็นเครื่องมือกล่อมนอน ไม่เคยฟังจนถึงตอนจบของเรื่อง ปล่อยให้ผู้จัดรายการพูดคุยกับนักเล่าเรื่องกันอยู่สองคน ท่ามกลางฝันหวานของเหล่าผู้ฟังเสียจนเกือบลืมไปว่า นี่คือรายการเล่าเรื่องผี

        สิ่งที่น่าสนใจคือ การเสพเรื่องสยองขวัญในตอนกลางคืน ควรจะปลุกเร้าความกลัวของผู้คนจนทำให้นอนไม่หลับ มากกว่าขับกล่อมให้รู้สึกง่วงนอนไม่ใช่หรือ แล้วทำไมผู้คนส่วนใหญ่เมื่อฟังเรื่องผีก่อนนอนแล้วรู้สึกหลับง่ายกว่าการไม่เปิดอะไรฟังเลย

        เรื่องนี้ เจฟฟ์ คาห์น (Jeff Kahn) หนึ่งในผู้วิจัยเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนโดยอาศัยเทคโนโลยี และผู้ร่วมก่อตั้ง RISE แอปพลิเคชันเพื่อการนอนหลับ อธิบายความสัมพันธ์ของการฟังกับการนอนหลับ โดยระบุว่า การฟังสื่อต่างๆ เช่น พอดแคสต์ จะช่วยให้สมองรู้สึกผ่อนคลาย ลดการวิตกกังวล และสร้างกิจวัตรประจำวันเพื่อส่งสัญญาณให้ร่างกายรับรู้ว่าถึงเวลานอนแล้ว

        อีกทั้ง ดร.ลินด์ซีย์ บราวนิง (Dr.Lindsay Browning) นักจิตวิทยาคลินิกและผู้เขียน ‘Navigating Sleeplessness’ หนังสือเกี่ยวกับวิธีการนอนหลับให้ดีขึ้น กล่าวว่า การฟังพอดแคสต์จะเบี่ยงเบนความสนใจให้เรานึกถึงเรื่องอื่น นอกเหนือจากสิ่งที่เรากำลังคิดหรือเครียด ทำให้สามารถละทิ้งความวิตกกังวลในระยะสั้นได้ หรืออาจกล่าวได้ว่า ระหว่างที่คุณกำลังคิดและจินตนาการถึงรูปร่างหน้าตาของผีนางรำขณะฟังเรื่องเล่าจากรายการผี อาจทำให้คุณหลงลืมคำก่นด่าจากหัวหน้า หรืองานบ้าๆ ที่ถูกแก้รอบที่ร้อยไปชั่วครู่ เมื่อสบายใจขึ้นก็นอนหลับง่ายขึ้น

        คำถามต่อมาคือ ท่ามกลางพอดแคสต์มากมายหลายประเภท ทั้งวิทยาศาสตร์ จิตวิทยา การเมือง ธุรกิจ หรือแม้กระทั่งพอดแคสต์เพื่อการนอนหลับโดยเฉพาะ ทำไม ‘เรื่องผี’ ถึงเป็นพอดแคสต์ที่ได้รับความนิยมเป็นลำดับต้นๆ ในการฟังก่อนนอน

        คำตอบคือ การเสพสื่อที่เกี่ยวกับเรื่องสยองขวัญ สามารถลดระดับคอร์ติซอลหรือฮอร์โมนความเครียดลงได้ อ้างอิงจากงานวิจัยชื่อ ‘Pandemic practice: Horror fans and morbidly curious individuals are more psychologically resilient during the COVID-19 pandemic’ ตีพิมพ์ในวารสาร Personality and Individual Differences ระบุว่า ผู้ที่ชอบเสพเรื่องราวสยองขวัญจะมีความยืดหยุ่นทางอารมณ์ และมีความทุกข์ทางใจน้อยกว่าผู้ที่ไม่ชอบเรื่องสยองขวัญ เนื่องจากความกลัวจะกระตุ้นการตอบสนองทางสรีรวิทยา เช่น หัวใจเต้นแรง เหงื่อออก รูม่านตาขยาย หลังจากนั้น ร่างกายจะเข้าสู่โหมดจัดการกับอารมณ์ด้านลบเพื่อหลบหนีความกลัว เมื่อเรื่องสยองขวัญจบลง ร่างกายจะเริ่มกระบวนการสงบสติอารมณ์ ส่งผลให้หัวใจเต้นช้าลง และหยุดผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล ซึ่งช่วยให้สมองรู้สึกผ่อนคลาย

        อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็แสดงความเป็นห่วงเล็กน้อยเกี่ยวกับการฟังสื่อประเภทพอดแคสต์ก่อนนอนว่า อาจไม่ใช่กิจวัตรที่ดีสักเท่าไร เพราะสุดท้ายแล้ว ‘เสียง’ อาจรบกวนการนอนของเรา ซึ่งในเรื่องนี้ ดร.ลินด์ซีย์กล่าวเสริมอีกว่า การเสพสื่อก่อนนอนไม่ต่างจากการจับข้อมูลยัดลงสมอง ซึ่งมันจะพยายามตื่นตัวตลอดเพื่อประมวลผลข้อมูลที่ได้รับ นั่นเท่ากับว่า หากเรื่องที่คุณกำลังฟังน่าติดตามเสียจนดึงดูดความสนใจมากเกินไป เรื่องเล่าที่อยากให้เป็นเรื่องราวขับกล่อมก่อนนอน อาจกลายเป็นกาแฟดำร้อนๆ ที่ปลุกให้คุณตื่นตลอดเวลา

        แม้จะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่เชื่อเถอะว่า การเพลิดเพลินกับเสียงจากรายการผี ดีกว่าการที่ร่างกายเพลิดเพลินกับฤทธิ์จากยากล่อมประสาทอย่างแน่นอน เพราะสุดท้ายแล้ว หากการหาอะไรฟังไม่ได้รบกวนการนอนของคุณ มันก็มีประโยชน์มากกว่าการหลับตาเฉยๆ 2 ชั่วโมง แล้วค้นพบว่าตัวเองยังไม่หลับสักที

        จึงไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรหากก่อนนอนเราจะอาบน้ำให้สบายตัว จิบนมอุ่นๆ ปิดไฟ แล้วเปิด The Ghost Radio ฟังเรื่องสยองขวัญ แล้วเผลอหลับไปพร้อมกับภูตผีที่มาส่งคุณเข้านอน เพราะเรื่องผีอาจน่ากลัวน้อยกว่าเรื่องราวที่คุณต้องเผชิญในวันพรุ่งนี้ ก็เป็นได้


โพสต์โดย : Kingdom Kingdom เมื่อ 16 ส.ค. 2567 06:21:22 น. อ่าน 5 ตอบ 0

facebook